การเลี้ยงน้ำใจพ่อแม่ก็คือ การไม่ทำให้พ่อแม่ช้ำใจเสียใจหรือถึงกับน้ำตาตกเพราะเราเป็นต้นเหตุ การที่เราผู้เป็นลูกประพฤติตนตามคำแนะนำตักเตือนของท่าน เป็นคนอ่อนน้อม ไม่หัวดื้อ ถือรั้น มีสัมมาคารวะ รักเคารพท่านทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่ถือโทษโกรธเคือง และไม่แสดงความไม่พอใจออกมาให้ท่านเห็น ให้ท่านน้อยใจ โดยถือว่าท่านเป็นพระจริงๆ การพูดจาหรือแสดงกิริยาอื่นก็เป็นไปด้วยความยำเกรง มีความยกย่องนับถืออยู่ในที การประพฤติปฏิบัติตนของเราอย่างนี้ ย่อมจะนำความแช่มชื่นเบิกบานใจ และความพอใจมาให้ท่านได้ เราเพราะพ่อแม่นั้นพอเห็นลูกเชื่อถ้อยฟังคำเท่านั้นก็เป็นอันหมดห่วงไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ความกังวลว่าลูกจะไม่ดีดังใจนึก ความกลัวว่าลูกจะลำบากลำบนในวันหน้าก็จะหมดไป เมื่อท่านหมดห่วงใยในตัวเรา ท่านก็จะกินได้นอนหลับ จิตใจก็พลอยสบายไปด้วย
เป็นการต่ออายุให้ท่านได้เสียด้วย
จริงอยู่ บางทีเราอาจจะอยู่ห่างพ่อแม่ ด้วยการไปมีครอบครัวอยู่ที่อื่น คือ ตัวอยู่ไกลไม่อาจจะอยู่ใกล้ชิดได้นานๆ ก็ไปหาท่านบ้าง ไปเยี่ยมเยียนถามไถ่สุขทุกข์ท่านบ้างตามโอกาส ยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปดูแลรักษาท่าน หรือทำประการอื่นๆ ที่ทำให้ท่านเกิดความสบายใจ การทำเช่นนี้เป็นการเลี้ยงจิตใจท่านทั้งนั้น และเป็นการสนองความหวังของท่าน เพราะพ่อแม่นั้นอุตส่าห์เลี้ยงเรามาก็เพื่อประสงค์ที่ว่า
ยามมีกิจ หวังให้เจ้า เฝ้ารับใช้
ยามป่วยไข้ หวังให้เจ้า เฝ้ารักษา
ยามถึงคราว ล่วงลับ ดับชีวา
หวังให้เจ้า ปิดตา เวลาตายฯ
รวมความว่า การเลี้ยงน้ำใจพ่อแม่ก็คือการทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้ท่านเกิดความเบิกบานใจ ไม่ทุกข์กังวลเดือดร้อนหรือไม่สบายใจ เพราะการกระทำของเรา เพราะเราเป็นต้นเหตุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น